วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก

การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานในถุงพลาสติก

เห็ดที่นิยมเพาะในถุงพลาสติกส่วนมาก ได้แก่ เห็ดสกุลนางรม(เช่น นางฟ้า นางรม ภูฏาน เป๋าฮื้อ นางนวล ฮังการี) เห็ดหูหนู เห็ดหอมเห็ดตีนแรด เห็ดหลินจือ เห็ดขอนขาว เห็ดกระด้าง เห็ดยานางิ เป็นต้น เห็ดเหล่านี้สามารถเพาะได้บนวัสดุหลายชนิด โดยเฉพาะขี้เลื่อย หรือใช้อาหารหมักจากฟาง

วัสดุและอุปกรณ์
1. อาหารเพาะ
2. หัวเชื้อเห็ด
3. ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7 x 11 นิ้ว หรือ 9 x 13
4. คอพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว
5. ฝ้าย หรือสำลี ยางรัด
6. หม้อนึ่งไม่อัดความดัน หรือหม้อนึ่งความดัน
7. โรงเรือนหรือสถานที่ บ่มเส้นใย และเปิดดอก

การเตรียมอาหารเพาะ
สูตรที่ 1:
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียด 3 -4 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม
ปูนขาว หรือแคลเซียมคาร์บอเนต 1 กิโลกรัม
หรือเติมด้วยน้ำตาลทราย 2 – 3 กิโลกรัม
ผสมน้ำให้มีความชื้น 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
คลุกผสมให้ทั่ว ใช้ทันที

สูตรที่ 2:
ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ 100 กิโลกรัม
แอมโมเนียมซัลเฟต 1 กิโลกรัม
ปูนขาว 1 กิโลกรัม
หมักกับน้ำนานประมาณ 2 -3 เดือน
ผสมรำละเอียด 3 กิโลกรัม
น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
ปรับความชื้น 60 -70 เปอร์เซ็นต์

สูตรที่ 3:
ฟางสับ 4 – 6 นิ้ว 100 กิโลกรัม
มูลวัว 25 กิโลกรัม
ยูเรีย 1 กิโลกรัม
รำละเอียด 5 กิโลกรัม
น้ำ
วิธีการ หมักฟาง มูลวัว ยูเรีย และน้ำ กองเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นเวลาประมาณ 15 วันโดยกลับกองทุกๆ 3 – 4 วัน นำมาผสมรำละเอียด คลุกให้ทั่วปรับความชื้นในกองปุ๋ยประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ หมักไว้1 คืน นำไปใช้ได้

สูตรที่ 4:
ฟางสับ 4 – 6 นิ้ว 100 กิโลกรัม
ยูเรีย 1 กิโลกรัม
แอมโมเนียมซัลเฟต 2 กิโลกรัม
หินปูน (CaCo3) หรือปูนขาว (Cao) 1 – 3 กิโลกรัม
ยิบซัม (MgSo4. 7H2O) 2 กิโลกรัม
ดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟต 3 กิโลกรัม
น้ำ
วิธีการ หมักฟางกับน้ำประมาณ 2 วัน ผสมยูเรียหมักต่อ 2 – 3 วัน
ใส่แอมโมเนียมซัลเฟต หมักต่อ 2 – 3 วัน กลับกองหมัก 2 – 3 วัน
ใส่ปูนหรือปูนขาวหมัก 2 – 3 วัน นำไปใช้ได้
(ทุกครั้งที่มีการเติมปุ๋ยควรคลุกให้ทั่ว) โดยใส่ปุ๋ยหมักมีความชื้น 60 – 70 เปอร์เซ็นต์

สูตรที่ 5:
ฟางสับ 2 – 3 นิ้ว 100 กิโลกรัม
แคลเซียมคาร์บอเนต 2 กิโลกรัม
รำละเอียด 5 – 8 กิโลกรัม
ผสมน้ำให้มีความชื้น 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
หมักส่วนผสมไว้ 8 – 10 วัน โดยกลับกองทุก 2 วัน

สูตรที่ 6:
ฟาง เปลือกถั่วเขียว เศษต้นถั่วเหลืองที่ใช้เพาะเห็ดฟางแล้ว
หมายเหตุ
1. การทำปุ๋ยหมักควรทำกองปุ๋ยให้สูงไม่น้อยกว่า100 เซนติเมตร
2. อาหารหมักที่นำไปใช้เพาะเห็ด ต้องไม่มีกลิ่นแอมโมเนียเหลืออยู่

เห็ดสกุลนางรมและเห็ดตีนแรด – ใช้อาหารได้ดีทั้งจากขี้เลื่อยและฟางหมัก โดยปรับความชื้นในอาหารเพาะ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
เห็ดหูหนู เห็ดยานางิ – ใช้อาหารเพาะจากขี้เลื่อยให้ผลผลิตดีโดยปรับความชื้นในอาหารเพาะ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ยังมีวัสดุอื่นอีกหลายชนิด ที่สามารถนำมาใช้เพาะเห็ดสกุลนางรม นางฟ้า ได้ผลดี เช่น ชานอ้อย ซังข้าวโพด ขุยมะพร้าว เป็นต้น

วิธีการเพาะ
1. บรรจุอาหารเพาะลงในถุงพลาสติกทนร้อน กดให้แน่นตึง สูงประมาณ 2/3 ของถุง
2. รวบปากถุงบีบอากาศออกสวมคอพลาสติกหรือไม้ไผ่ แล้วพับปากถุงพาดลงมา รัดยางให้แน่น อุดด้วยสำลี หุ้ม ทับด้วยกระดาษหรือ ฝาครอบพลาสติก
3. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยถังนึ่งไม่อัดความดัน หรือใช้หม้อนึ่งความดันอุณหภูมิ 90 – 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้ถุงเย็น
4. นำถุงวัสดุออกมาใส่เชื้อจากหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง ถุงละ ประมาณ 10 – 15 เมล็ด ก็เพียงพอ (โดยเขย่าเมล็ดข้าวฟ่างให้กระจายออก) เปิดและปิดจุกสำลีโดยเร็ว โดยปฏิบัติในที่สะอาดมิดชิดไม่มีลมโกรก
5. นำไปวางในที่สำหรับบ่มเส้นใย มีอุณหภูมิตามที่เห็ดแต่ละชนิดต้องการ ไม่จำเป็นต้องมีแสง ไม่ต้องให้น้ำที่ก้อนเชื้อจนเส้นใยเห็ดเริ่มรวมตัวกันเพื่อเจริญเป็นดอกเห็ด นำไปเปิดถุงให้ออกดอกต่อไป

สถานที่ หรือโรงเรือนสำหรับปิดดอก
ควรเป็นสถานที่สะอาด สามารถรักษาความชื้นและการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่ร้อน ภายในอาจทำชั้นวางก้อนเชื้อเห็ดหรือใช้แป้นสำหรับแขวนก้อนเชื้อ โรงเรือนสำหรับเปิดดอกควรให้มีขนาดที่สัมพันธ์กับจำนวนของก้อนเชื้อ เพื่อรักษาความชื้น และการถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือน เช่น ขนาดกว้าง x ยาว x สูง = 3 x 4 x 2.5 เมตร

การปฏิบัติดูแล รักษา
เห็ดนางฟ้า นางรม ฮังการี ภูฏาน และนางนวล ใช้เวลาเจริญในระยะเส้นใยประมาณ 1- 1.5 เดือน เมื่อเส้นใยเริ่มรวมตัวกันถอดสำลีและคอขวด นำก้อนเชื้อไปวางในโรงเรือนเพื่อให้เกิดดอก รักษาอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ การถ่ายเทอากาศ ตามที่เห็ดต้องการ การให้ความชื้นภายในโรงเรือนไม่ควรให้น้ำขังอยู่ภายในก้อนเชื้อ และไม่ควรให้ถูกดอกเห็ดโดยตรง ถ้าจำเป็นควรให้เป็นละอองเห็ดหูหนู ใช้เวลาในระยะเส้นใยประมาณ 1.5 – 2 เดือน จากนั้นถอดสำลีและคอขวด มัดปากถุงปิดไว้ กรีดข้างถุงเป็นระยะเพื่อให้เกิดดอก การให้ความชื้นสามารถให้น้ำที่ก้อนเชื้อและดอกเห็ดได้ ควรให้น้ำเบา ๆ มิฉะนั้นดอกเห็ดอาจจะช้ำและเน่าเสียได้ง่าย โรงเรือนควรมีการถ่ายเทอากาศที่ดี เห็ดเป๋าฮื้อใช้เวลาเจริญในระยะเส้นใยประมาณ 1.5 – 2 เดือน เมื่อเส้นใยถูกกระทบกระเทือนหรือถูกแสงมาก ๆ ทำให้เกิดเม็ดหรือตุ่มสีดำ ซึ่งถ้าเกิดมากจะทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง วิธีการเปิดถุงให้ออกดอก และการดูแลรักษาปฏิบัติเช่นเดียวกับเห็ดนางฟ้า

เห็ดตีนแรด ใช้เวลาเจริญในระยะเส้นใยประมาณ 2 – 2.5 เดือน เมื่อเส้นใยเริ่มรวมตัวเพื่อเกิดดอก มีวิธีการทำให้เกิดดอกดังนี้
1. ตัดปากถุง ใส่ดินร่วนผสมปูนขาว 1 % และน้ำให้ความชื้น 60 – 70 % ปิดทับก้อนเชื้อหนาประมาณ ½ นิ้ว
2. แกะพลาสติกออก บรรจุก้อนเชื้อเห็ดลงในหลุมที่ไม่มีน้ำขัง ลึกเท่ากับความสูงของก้อนเชื้อ เกลี่ยดินปิดหน้า ให้ความชื้น คลุมด้วยพลาสติกสูงจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร คลุมทับด้วยฟาง หญ้าแห้ง หรือแฝกคากันแสงแดด

เห็ดยานางิ ใช้เวลาเจริญในระยะเส้นใยประมาณ 40 – 50 วัน เส้นใยเห็ดยานางิหลังจากเจริญเต็มอาหารจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถอดสำลีและคอขวด รักษาอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ให้เหมาะสม

การเก็บผลผลิต
เห็ดนางรม นางฟ้า ฮังการี ภูฎาน นางนวล เป๋าฮื้อ เก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แต่ขอบหมวกยังไม่บานย้วย
เห็ดหูหนู เก็บเมื่อดอกบานย้วยเต็มที่
เห็ดตีนแรด เก็บในขณะที่ขอบหมวกเห็ดยังงุ้มอยู่
เห็ดยานางิ เก็บเมื่อกลุ่มดอกเห็ดโตเต็มที่ แต่ขอบหมวกเห็ดยังงุ้มอยู่และเยื่อที่ยึดขอบหมวกกับก้านเห็ดยังไม่ขาดออกโดยมีส้นผ่าศูนย์กลางหมวกประมาณ 3-10 เซนติเมตร และก้านยาวประมาณ 5-11 เซนติเมตร
ควรเก็บดอกเห็ดในช่อเดียวกันให้หมด อย่าให้มีเศษเหลือติดค้างอยู่กับก้อนเชื้อ เนื่องจากจะทำให้เน่า เชื้อโรค แมลงจะเข้าทำลายได้

————————————————————————————————————

ที่มาของข้อมูล: สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร

————————————————————————————————————-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น